31 ธันวาคม อาจจะเป็นวันสำคัญของใครหลายคน เพราะอีกแค่ไม่กี่ชั่วโมงก็จะได้พบกับปีใหม่ แต่สำหรับ ซาอิด เอท มาเลค มันคือวันที่เขาต้องวิ่งหนีอย่างหัวซุกหัวซุน
ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านั้น เด็กหนุ่มชาวโมร็อกโกเพิ่งจะนั่งเรือข้ามฟากมายังสเปน เพื่อลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย แต่ทันทีที่เท้าเหยียบแผ่นดินยุโรป โชคที่มีดูเหมือนจะถูกใช้ไปหมดแล้ว
มันจึงทำให้เขาต้องวิ่งอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้รอดพ้นจากการจับกุมของตำรวจ และฝีเท้าที่ว่องไวของเขาในครั้งนั้น คือจุดเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล
เด็กหนุ่มจากเทือกเขาสูง
ธรรมชาติดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่อยู่กับ มาเลค มาตั้งแต่เกิด เมื่อเขาคือหนึ่งในสมาชิกของครอบครัวชาวเบอร์เบอร์ ชนเผ่าเร่ร่อนในแถบแอฟริกาเหนือที่ดำรงชีวิตด้วยการเลี้ยงแพะ
เขาเกิดและเติบโตในไจมา หรือเต็นท์ผ้าขนาดใหญ่ ในปี 1984 เขาอาศัยอยู่ในแถบเทือกเขาแอตลาส ในโมร็อกโก โดยเป็นสมาชิกคนสุดท้องในพี่น้อง 6 คน และเป็นคนเดียวในครอบครัวที่ได้เรียนหนังสือ
อย่างไรก็ดีตอนอายุ 18 มาเลคก็ต้องออกมาหางานทำเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว และเริ่มต้นงานแรกในไซต์ก่อสร้าง บริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของโมร็อกโก โดยได้รับค่าแรง 500 ยูโรต่อเดือน (ราว 19,000 บาท) แม้ว่ามันอาจจะเป็นเงินที่พอใช้ได้ แต่ก็ยังไม่พอสำหรับประเทศที่มีเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ราว 27,000-36,000 บาท
เขาพยายามมองหาลู่ทางใหม่ นั่นก็คือการไปยุโรป เนื่องจากดินแดนของโมร็อกโกอยู่ใกล้กับสเปนมาก มีเพียงแค่ช่องแคบยิบรอลตาร์กั้นกลางเท่านั้น ทำให้แต่ละปีมีผู้อพยพแบบผิดกฎหมายหลั่งไหลเข้าไปในสเปนมากกว่า 40,000 คน
ทว่า มาเลค ก็ได้แค่คิดเท่านั้น เขายังไม่กล้าพอ และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่แล้ววันหนึ่ง โมฮัมเหม็ด ลูกพี่ลูกน้องของเขาก็มอบโอกาสนี้ให้เขาโดยไม่ทันตั้งตัว
มันเป็นคืนก่อนวันปีใหม่ของปี 2007 พวกเขาทั้งสามได้แอบเข้าไปที่ท่าเรือ แล้วเข้าไปซ่อนตัวใต้ท้องรถบรรทุก ด้วยการเกาะสายเคเบิ้ลเอาไว้ พวกเขารู้ว่ามันเสี่ยงมาก เพราะก่อนหน้า ซาอิด พี่ชายของเขาเคยพยายามมาแล้วแต่โดนจับได้ จนโดนซ้อมอย่างหนัก
รถบรรทุกค่อย ๆ เคลื่อนตัวไปยังเรือเฟอร์รี่ที่กำลังจะออกเดินทางไปสเปน ด่านแรกผ่านไปด้วยดี เมื่อเรือออกจากฝั่งพวกเขาก็ย้ายไปอยู่บนรถบรรทุกที่มีผ้าคลุม และเข้าไปซ่อนตัวในลังที่ทำด้วยไม้พาเลท โดยไม่มีทั้งน้ำและอาหารตลอดการเดินทาง
ราว 5 ชั่วโมง เรือข้ามฟากก็เดินทางมาถึงท่าเรือของสเปน และเมื่อรถบรรทุกแล่นผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง พวกเขาไม่ถูกจับได้ นั่นก็หมายความว่าความหวังของพวกเขาใกล้จะเป็นจริงแล้ว
โชคสามชั้น
รถบรรทุกแล่นไปตามทางอยู่ราว 2 ชั่วโมง จึงจอดแวะพัก ทำให้ มาเลค และ โมฮัมหม็ด ได้ปีนออกมา พวกเขามองไปที่ป้ายข้างทาง และเห็นคำว่า “มาลาก้า” จึงตัดสินใจเดินเลียบไปตามทางหลวง
มาเลค และ โมฮัมเหม็ด เดินไปได้ราว 10 ชั่วโมง ก็หยุดแวะพักในอุโมงค์ใต้ถนน มันเป็นคืนที่หนาวเหน็บและมืดมิด พวกเขาจึงต้องนอนเบียดกันเพื่อให้หลับตาลงได้ และพอถึงรุ่งสางพวกเขาก็ออกเดินอีกครั้ง
พวกเขาเดินไปเรื่อย ๆ จนมาพบรถคันหนึ่งที่วิ่งสวนมาแล้วชะลอและกระพริบใส่ ตอนแรกพวกเขานึกว่ารถคันดังกล่าวต้องการความช่วยเหลือ แต่พอมองดี ๆ มันไม่ใช่ เพราะนั่นคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ด้วยความตกใจ ทำให้พวกเขาหนีกันไปคนละทาง มาเลค วิ่งข้ามทางหลวงไปอีกฝั่งหนึ่ง ส่วน โมฮัมเหม็ด พยายามซ่อนตัวในพุ่มไม้ แต่สุดท้ายก็โดนจับได้
มันจึงเหลือเพียงแค่เขาตัวคนเดียว มาเลคพยายามหมอบอยู่ที่โคนไม้ แต่หลังจากนั้นไม่นานรถตำรวจก็แล่นมาที่เขา เขานึกอะไรไม่ออกนอกจากวิ่งไปจากตรงนั้น
ตอนแรกตำรวจถึงกับหลุดขำออกมา แรงเท้าหรือจะสู้แรงรถ พยายามไปก็ดูจะเปล่าประโยชน์ แต่ มาเลค ไม่สน เขาวิ่ง วิ่ง วิ่ง ต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่หยุด รู้ตัวอีกทีก็ไม่มีรถตามเขามาแล้ว ซึ่งก็หมายความว่า เขาหนีจากการจับกุมได้สำเร็จ
อย่างไรก็ดีแม้ว่าเขาจะหนีจากตำรวจพ้น แต่ มาเลค ก็มืดแปดด้าน เขาไม่รู้จักใครเลยที่นี่ ลูกพี่ลูกน้องที่มาด้วยกันก็โดนจับไปแล้ว แถมยังไม่รู้ภาษาสเปนสักคำ แล้วเขาจะเอาชีวิตรอดได้อย่างไรในดินแดนแห่งนี้
แต่ดูเหมือนโชคจะเข้าข้าง มาเลค เมื่อขณะที่เดินเข้าไปพักในปั๊มน้ำมัน เขาก็ได้ยินภาษาอาหรับที่คุ้นเคย และได้รู้ว่าเจ้าของปั๊มนี้เป็นผู้หญิงชาวโมร็อคโกที่มาแต่งงานกับคนสเปน ก่อนที่พวกเขาจะให้น้ำและอาหารแก่มาเลค
ทว่า ความใจดีของพวกเขาไม่ได้มีแค่นั้น เมื่อหลังจากนั้น คู่สามี-ภรรยา ได้ขับรถพาไปยังบ้านของพวกเขาที่อยู่ในเขตเอสเตโปญา และให้ มาเลค ได้อาบน้ำในรอบหลายวัน พร้อมทั้งเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังชวนไปอยู่กับครอบครัวที่เมืองอัลเมเรีย
แน่นอนว่า มาเลค ตอบตกลงโดยไม่ลังเลและพักอยู่กับครอบครัวเจ้าของปั๊มน้ำมันอยู่พักใหญ่ จนกระทั่งวันหนึ่งที่เขาออกมาใช้โทรศัพท์สาธารณะเพื่อโทรกลับไปที่บ้าน เขาก็ได้ยินสำเนียงที่คุ้นเคยดังออกมาจากตู้ข้าง ๆ
ต้นเสียงนั้นคือชายชาวโมร็อคโก พวกเขาจึงได้คุยกัน ก่อนจะรู้ว่าชายคนนี้อาศัยอยู่หมู่บ้านข้าง ๆ และเป็นคนงานอยู่ในฟาร์ม แถมตอนนี้กำลังต้องการแรงงานเพิ่มอยู่พอดี ซึ่งคือโชคชั้นที่สามของเขา
มันทำให้ มาเลค รู้ว่าถึงเวลาแล้วที่เขาจะบอกลาครอบครัวเจ้าของปั๊มน้ำมัน แล้วเริ่มชีวิตใหม่ด้วยลำแข้งของตัวเองเสียที
คนงานเก็บมะกอก
มาเลค ใช้ชีวิตอยู่ในฟาร์มชานเมืองอัลเมเรียอยู่เกือบ 3 ปี งานของเขาส่วนใหญ่อยู่ในเรือนกระจก ที่เรียกได้ว่าต้องใช้แรงงานอย่างเต็มขั้น ไม่ว่าจะเป็นการเก็บมะเขือและแตงโม ไปจนถึงดูแลเรือนกระจกให้อยู่ในสภาพดี
มันเป็นงานที่หนักและต้องเผชิญสภาพอากาศที่ร้อนจัดในแคว้นอันดาลูเซีย ซึ่งถือเป็นเขตที่ร้อนที่สุดของสเปน แต่แม้จะลำบากแค่ไหนเขาก็บอกตัวเองว่าต้องทน
“เวลาที่ผมรู้สึกทุกข์ ผมคิดอย่างจริงจังว่าจะเก็บกระเป๋ากลับบ้าน แต่ครั้งหนึ่งผมเคยข้ามมันมาแล้ว ผมไม่มีที่ให้กลับไปแล้ว” มาเลค กล่าว
“ผู้คนจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อข้ามมาที่นี่ หรือใช้เวลาหลายปีพยายามไปกับมัน แต่ผมข้ามมาได้ตั้งแต่ครั้งแรก และมันก็คือโอกาส ผมต้องใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้”
มาเลค ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในฟาร์มจนถึงปี 2010 เขาและเพื่อนก็ได้งานใหม่เป็นคนเก็บมะกอกที่เมืองบาเอญา จังหวัดคอร์โดบา ซึ่งห่างจากที่อยู่เดิมถึง 270 กิโลเมตร และที่นี่ก็ทำให้เขาได้รู้จักกับความสุขที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อน
เขาเริ่มเรียนภาษาสเปน เล่นฟุตบอลกับเพื่อน และสิ่งสำคัญที่สุดคือ เขาเริ่ม “วิ่ง” และนั่นทำให้เขาได้พบกับเพื่อนคนสำคัญในอนาคต คือเหล่าสมาชิกจากชมรม มีเดีย เลกัว บาเอน่า สโมสรกรีฑาท้องถิ่น
พอหมดฤดูมะกอก เขาตัดสินใจว่าจะอยู่ในเมืองนี้ต่อ มีเดีย เลกัว บาเอน่า และได้ที่พักชั่วคราวในสภากาชาดสาขาบาเอญา นอกจากนี้ ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนในชมรม ทำให้เขามีห้องเช่าในอพาร์ตเมนต์สำหรับหลับนอนที่นี่
มาเลค ยังได้มีโอกาสได้ลงแข่งในรายการวิ่งของท้องถิ่น ซึ่งก็เป็นเพื่อนในชมรมที่คอยสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นรองเท้า อุปกรณ์การซ้อม ไปจนถึงเงินค่าลงทะเบียนในการแข่งขัน
“สโมสรช่วยทุกอย่างที่เขาต้องการ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาคือหนึ่งในครอบครัวของ เฆซุส โมลาเรส ประธานชมรม ย้อนความหลัง
หลังจากนั้น มาเลค ก็เริ่มสร้างชื่อด้วยการคว้าแชมป์วิ่งระยะไกลประเภทถนนในรายการของท้องถิ่น โดยมีงานหลักเป็นคนเก็บมะกอก ที่ทำให้เขาพอมีรายได้และตั้งตัวได้บ้าง
“ตั้งแต่ครั้งแรกที่เราได้พบกับ ซาอิด เราสัมผัสถึงความใจเย็นและการเป็นคนช่างคิด ที่ให้ความสำคัญกับทุกโอกาส” โมลาเรส กล่าวต่อ
“เขาเป็นนักวิ่งที่เร็ว และมีร่างกายที่ทนทาน”
ในปี 2012 มาเลค ก็ได้รับข่าวดี เมื่อเพื่อนในชมรมช่วยให้เขาได้รับทุนนักกีฬาจากสภาเมือง และที่สำคัญคือการได้รับใบอนุญาตให้พำนักถาวร หรือที่เรียกกันว่า ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ที่ทำให้ไม่ต้องกลัวว่าจะต้องถูกส่งตัวกลับประเทศอีกแล้ว ตราบใดที่มีงานทำ
เขายังใช้เวลาว่างกับ คาร์ลอส ชาร์มอร์โร เพื่อนในชมรม ฝึกสอนการวิ่งให้กับเหล่าเด็ก ๆ ในท้องถิ่น ก่อนที่เพื่อนคนนี้จะพา มาเลค ไปพบกับโลกใบใหม่ที่เขาคุ้นเคย
วิ่งเทรลเปลี่ยนชีวิต
ด้วยความที่ มาเลค เติบโตมาจากครอบครัวชาวเบอร์เบอร์ ทำให้คุ้นเคยกับภูเขาเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ ชาร์มอร์โร จึงแนะนำให้เขาลองลงแข่งวิ่งเทรล หรือการวิ่งระยะไกลที่มีป่าเขาเป็นสภาพแวดล้อม
“มันทำให้ผมนึกถึงตอนเป็นเด็ก ที่ภูเขาคือโลกของผม” มาเลค
รายการที่ชาร์มอร์โรแนะนำคือ เซกามา-ไอซคอร์รี ที่มีระยะทางเทียบเท่ากับการวิ่งมาราธอน แต่ต้องเผชิญกับความชันจากภูเขา
ไอซคอร์รี ที่ตั้งอยู่ในแคว้นบาสก์ ซึ่งมีความสูงถึง 2,736 เมตร
อย่างไรก็ดีอุปสรรคสำคัญคือมันเป็นรายการที่โด่งดังและมีคนสนใจมาก โดยในปี 2013 ซึ่งเป็นปีที่เพื่อนของ มาเลค อยากให้เขาลงแข่งมีผู้สมัครถึง 3,207 คน แต่รับได้เพียง 500 คนเท่านั้น แถมในจำนวนนี้ยังถูกแบ่งออกเป็นโควตาของสปอนเซอร์ 150 คน นักวิ่งที่ดีที่สุดจากครั้งที่แล้ว 125 คน ส่วนที่เหลือ 225 คน จะเป็นการจับฉลากจากใบสมัคร
ชาร์มอร์โร จึงต้องหาตัวช่วย เพราะเขาอยากให้ มาเลค ได้แสดงฝีเท้าในรายการนี้จริง ๆ จึงได้โทรหา นูเรีย เบอร์กาดา ที่เป็นแม่ของ คิลเลียน จอร์เนต์ นักวิ่งเทรลแชมป์หลายสนามในช่วงนั้น (ที่ปัจจุบันคือตำนานของวงการ) และเมื่อพวกเขาได้พบกัน เธอก็รับปากว่าจะช่วย เพราะรู้สึกเหมือนเห็นลูกชายตัวเอง
เบอร์กาดา จึงเข้าไปคุยกับ อันฮัว เตอร์เรอกา ผู้อำนวยการแข่งขัน และขอสิทธิ์ให้มาเลค เธอรับประกันว่ามันจะคุ้มค่าอย่างแน่นอน หากให้ มาเลค ได้เข้าร่วมการแข่งขัน
สุดท้าย มาเลค ก็ได้เข้าร่วมการแข่งขันในรายการ เซกามา-ไอซคอร์รี มันคือการวิ่งระดับชาติครั้งแรกของเขา แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้น เพราะภูเขาก็เหมือนสวนหลังบ้านที่เขาคุ้นเคยอยู่แล้ว
มาเลค ออกสตาร์ทอยู่ในกลุ่มผู้นำ และเมื่อมาถึง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการขึ้นสู่ยอดเขา ไอซคอร์รี ไม่ไกลจากครึ่งทางของการแข่งขัน เขาก็ตามหลัง จอร์เนต์ อยู่เพียง 90 วินาทีเท่านั้น
แม้ว่าสุดท้ายเขาจะเข้าเส้นชัยเป็นที่ 4 ในเวลาไม่ถึง 4 ชั่วโมง แต่การที่นักวิ่งโนเนมทำได้ขนาดนี้ ก็ทำให้เขาโด่งดังเป็นพลุแตก และทำให้เขาได้เซ็นสัญญากับทีมวิ่งเทรลอาชีพ จนได้ออกไปแข่งทั่วยุโรป รวมไปถึงรายการระดับโลกอย่าง สกายรันเนอร์ เวิลด์ซีรีส์
มันคือขาขึ้นของเขาอย่างแท้จริง ในปี 2013 และ 2014 เขาเข้าเส้นชัยเป็นที่หนึ่งในรายการ การแข่งขันชิงแชมป์ภูเขาสเปน แต่น่าเสียดายที่เขาไม่ได้รับรางวัล เนื่องจากไม่ได้มีสัญชาติสเปน จึงทำให้ทีมผู้จัดเลื่อนตำแหน่งอันดับ 2 มาเป็นผู้ชนะแทน
และเรื่องสัญชาตินี้ก็ทำให้ชีวิตของเขามีปัญหาในเวลาต่อมา
เกือบถูกเนรเทศ
แม้ว่า มาเลค จะอยู่สเปนมานานแค่ไหน หรือคว้าแชมป์รายการวิ่งไปกี่รายการ แต่สถานะของเขาก็คือแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในสเปน
โดยตามกฎเขาต้องทำงานเก็บมะกอกอย่างน้อย 180 วัน เพื่อสามารถต่อใบสำคัญถิ่นที่อยู่ได้ ซึ่งเขาก็ไม่ได้มีปัญหา พยายามแบ่งเวลามาทำงานให้ครบอยู่ทุกปี แถมยังมองว่างานหนักนี้จะช่วยฝึกให้เขาอึดขึ้นในการแข่งขันวิ่งระยะไกล
บางครั้งปัญหาก็มาเยือนเราโดยไม่ได้ตั้งตัว มาเลค ก็เช่นกัน ในปี 2018 เรียกได้ว่าเป็นปีแห่งเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อตารางแข่งถูกเลื่อนออกไป แถมฤดูเก็บเกี่ยวก็สั้นลง ซึ่งจะทำให้ใบอนุญาตเขาหมดอายุก่อนกำหนด และเมื่อใบอนุญาตหมดอายุ เขาก็จะกลายเป็นผู้อาศัยอยู่แบบผิดกฎหมายทันที
ทว่าโชคดีที่ มาเลค เป็นคนนิสัยดีและเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ทำให้เขามีเพื่อนมากมายจากการวิ่งเทรล รวมไปถึงแฟนคลับที่ชื่นชอบ และคนเหล่านี้ก็ได้ช่วยเหลือเขาด้วยการทำแคมเปญ หรือ “ซาอิดได้อยู่ต่อ” บนโลกโซเชียล
และมันก็ได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี เมื่อแคมเปญนี้ได้รับความสนใจจากสื่อระดับชาติและรายงานข่าวไปทั่วประเทศ เช่นกันกับในโลกออฟไลน์ที่ร่วมส่งกำลังใจให้เขา
ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่มาเลคมาลงแข่งในรายการ ที่แคลิฟอร์เนีย ก็มีคนออกมาถือป้ายคำว่า ‘ซาอิด เซ เควดา’ พร้อมทั้งตะโกนเรียกชื่อเขาตอนเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 2
แม้ว่าสุดท้าย มาเลค จะต่อใบอนุญาตไม่ทัน แต่หนึ่งเดือนหลังจากนั้นเขาก็ได้รับข่าวดี เมื่อกระทรวงยุติธรรมสเปนอนุญาตให้เขาอยู่อาศัยต่อในดินแดนแห่งนี้ แต่ไม่ใช่ในฐานะแรงงานต่างชาติอีกแล้ว แต่เป็นในฐานะพลเมืองสเปน
เขาได้รับสัญชาติสเปนเป็นกรณีพิเศษ ด้วยเหตุผลว่าเขาเข้ากับสเปนได้อย่างสมบูรณ์ และที่สำคัญคือผลงานที่โดดเด่นในด้านกีฬาของเขาที่จะนำความสำเร็จมาสู่วงการกรีฑาของสเปนในอนาคต
“ผมกลัวมากที่จะต้องถูกส่งกลับ ชีวิตของผมจนถึงตอนนั้นไม่ง่ายเลย แต่สัญชาตญาณบอกผมว่ามันไม่น่าจะมีปัญหา” มาเลค กล่าวกับ
“สิ่งแวดล้อมรอบตัวผมทำให้ผมได้เห็นและเชื่อ รวมถึงได้รับการรับรองว่ารัฐบาลสเปนจะไม่ปล่อยให้ผมไป”
ตัวแทนชาวสเปน
ปัจจุบันในวัย 37 ปี มาเลค ยังคงสนุกกับการวิ่งเทรล เขาเพิ่งคว้าแชมป์
กอร์เบีย ซูเซียน ระยะทาง 31 กิโลเมตร เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา รวมถึง ภูเขาไฟอุลตร้ามาราธอนระยะทาง 250 กิโลเมตรที่คอสตาริกา เมื่อเดือนเมษายน 2021
และที่สำคัญเขาได้รับเลือกเป็นตัวแทนของสเปนไปลงแข่ง สกายรันนิ่งชิงแชมป์โลก และช่วยให้บ้านเกิดหลังที่สองของเขาคว้าแชมป์ประเภททีมเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
เขายังเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 2 ในการแข่งขันวิ่งเทรลชิงแชมป์แห่งชาติสเปน จนได้เป็นตัวแทนมาลงแข่งชิงแชมป์โลกที่ประเทศไทย ในเดือนพฤจิกายน 2021
จริงอยู่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับ มาเลค อาจจะดูเป็นความโชคดี ที่ทำให้เขารายล้อมไปด้วยคนดี มีน้ำใจ แต่สิ่งที่ทำให้เขาได้รับสิ่งนั้น คือนิสัยที่ดีของเขา จนทำให้คนอื่นอยากช่วยเหลือเกื้อกูล
ทำให้แม้ว่าจุดเริ่มต้นของเขาอาจจะเป็นสิ่งที่ผิด จากการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย แต่เขาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เขามีคุณค่าพอที่จะรักษาไว้ ทั้งในแง่ของความเป็นนักกีฬาและความเป็นมนุษย์
“ผมรู้สึกมีความสุขมาก ผมเป็นคนที่โชคที่สุดในโลกที่รู้สึกถึงความรักและน้ำใจของชาวสเปน ผมไม่รู้ว่าผมจะขอบคุณพวกคุณทั้งหมดอย่างไร สำหรับการสนับสนุนเหล่านี้” มาเลค กล่าว
และทำให้เขามีโอกาสได้รับใช้ผืนแผ่นดินสเปนด้วยความภาคภูมิ
UFABETWIN